ตัวเลขที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของหุ้นที่ดัชนีอ้างอิง ซึ่งนิยมคำนวณโดยใช้มูลค่าตลาดและราคาตลาด
คุณสามารถลงทุนดัชนีราคาหุ้นผ่านกองทุนดัชนีกับธนาคารหรือบลจ. และ CFD กับโบรกเกอร์ที่ให้บริการสัญญาซื้อขายส่วนต่าง
สารบัญ
ดัชนีหุ้นคืออะไร
ดัชนีราคาหุ้น (Stock Market Index) คือค่าทางสถิติที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงของผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ที่กำหนดในตลาดหุ้น เช่น SET, DJIA, Nikkei 225 เป็นต้น
ประโยชน์ของดัชนีหุ้น
- ประเมินความสำเร็จในการลงทุนว่าดีกว่าหรือแย่กว่าผลการลงทุนที่ได้รับจากดัชนี
- สร้างกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตลาดหรือดีกว่าตลาด เช่น กองทุนรวมหุ้นที่อ้างอิงดัชนี SET50 อย่าง K-SET50, SCBSET50 เป็นต้น
- สินทรัพย์อ้างอิงเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ดัชนี SET50 ที่เป็นสินทรัพย์อ้างอิงของ TDEX (กองทุน ETF), SET50 Index Futures (ฟิวเจอร์ส) และ SET50 Index Options (ออปชัน)
วิธีคำนวณดัชนีหุ้น
ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด (Market Capitalization Weighting) หรือก็คือหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงจะมีอิทธิพลต่อดัชนีมาก ส่วนหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำจะมีอิทธิพลต่อดัชนีต่ำ เช่น S&P 500, HSI, SET50 เป็นต้น
ตัวอย่างการคำนวณดัชนีแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด
ดัชนี Z เป็นดัชนีที่คำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาดอันประกอบด้วยบริษัท A, B และ C โดยราคาต่อหุ้นและจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วของแต่ละบริษัทเป็นดังนี้
ชื่อบริษัท | ราคาต่อหุ้น (บาท) | จำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว |
A | 20 | 100 |
B | 50 | 70 |
C | 45 | 80 |
สูตรการคำนวณมูลค่าตลาด = ราคาต่อหุ้น X จำนวนหุ้นที่ชำระแล้ว
ดังนั้น มูลค่าตลาดของแต่ละบริษัทจะเท่ากับ
1. บริษัท A = 20 x 100 = 2,000
2. บริษัท B = 50 x 70 = 3,500
3. บริษัท C = 45 x 80 = 3,600
มูลค่าตลาดของดัชนี Z จะเท่ากับ 2,000 + 3,500 + 3,600 = 9,100
หากคุณต้องการทราบว่าแต่ละบริษัทมีสัดส่วนเท่าไหร่ภายในดัชนี Z คุณสามารถคำนวณโดยการใช้มูลค่าตลาดของแต่ละบริษัทหารด้วยมูลค่าตลาดของดัชนี จากนั้นคูณด้วย 100
1. บริษัท A = (2,000/9,100) x 100 = 21.98%
2. บริษัท B = (3,500/9,100) x 100 = 38.46%
3. บริษัท C = (3,600/9,100) x 100 = 39.56%
คุณจะเห็นว่าบริษัท C มีสัดส่วนมากที่สุด และบริษัท A มีสัดส่วนน้อยที่สุดในดัชนี Z
ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาดปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float Market Capitalization Weighting) คล้ายคลึงกับแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาด โดยเปลี่ยนจากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดเป็นจำนวนหุ้นทั้งหมดที่สามารถซื้อขายได้แทน
ถ่วงน้ำหนักด้วยราคาตลาด (Price Weighting) คือหุ้นที่มีราคาสูงจะมีอิทธิพลต่อดัชนีสูง ส่วนหุ้นที่มีราคาต่ำจะมีอิทธิพลต่อดัชนีต่ำ เช่น DJIA และ Nikkei 225
ตัวอย่างการคำนวณดัชนีแบบถ่วงน้ำหนักด้วยราคาตลาด
ดัชนี W เป็นดัชนีที่คำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยราคาตลาดอันประกอบด้วยบริษัท A, B และ C โดยมีราคาต่อหุ้นดังนี้
ชื่อบริษัท | ราคาต่อหุ้น (บาท) |
A | 20 |
B | 50 |
C | 45 |
สูตรคำนวณการถ่วงน้ำหนักด้วยราคาตลาด = ราคาหุ้นบริษัทที่ต้องการ / (ราคาหุ้นทุกบริษัทที่อยู่ภายในดัชนี) จากนั้น คูณด้วย 100
บริษัท A = [20/(20+50+45)] x 100 = 17.39%
บริษัท B = [50/(20+50+45)] x 100 = 43.48%
บริษัท C = [45/(20+50+45)] x 100 = 39.13%
คุณจะเห็นว่าบริษัท C มีสัดส่วนมากที่สุด และบริษัท A มีสัดส่วนน้อยที่สุดในดัชนี W
ถ่วงน้ำหนักเท่ากัน (Equal Weighting) เข้าใจง่าย ๆ คือหุ้นทุกตัวมีน้ำหนักเท่ากันหมด แต่การคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักเท่ากันจะมีความผันผวนมากกว่า เนื่องจากหุ้นขนาดเล็กที่มีการเคลื่อนไหวมากกว่ามีอิทธิพลต่อดัชนีราคาหุ้นเท่ากับหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการเคลื่อนไหวน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น Barron’s 400 Index (สหรัฐอเมริกา)
ถ่วงน้ำหนักด้วยปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Factor Weighting) แตกต่างจากแบบก่อนหน้าตรงที่ไม่ใช้ตัวเลขจากตลาดหุ้น แต่ใช้ข้อมูลพื้นฐานของหุ้นแทน เช่น รายได้ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล กำไร มูลค่าตามบัญชี เป็นต้น ตัวอย่างเช่น FTSE RAFI US 1000 Index (สหรัฐอเมริกา)
ถ่วงน้ำหนักด้วยความผันผวน (Volatility Weighting) หรือก็คือหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงจะมีสัดส่วนต่ำ และหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำจะมีสัดส่วนสูง เช่น NQVWLC (สหรัฐอเมริกา)
10 ดัชนีหุ้นที่น่าสนใจ
- S&P 500 คือ ดัชนีหุ้นที่วัดผลการดำเนินงานของ 500 บริษัทชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา เช่น Tesla, Berkshire Hathaway, Nvidia เป็นต้น
- Dow Jones Industrial Average (DJIA) คือ ดัชนีราคาหุ้นที่สะท้อนผลการดำเนินงานของ 30 บริษัทชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา (ยกเว้นกลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งและสาธารณูปโภค) เช่น Boeing, IBM, McDonald’s เป็นต้น
- NASDAQ-100 คือ ดัชนีหุ้นที่สะท้อนผลการดำเนินงานของ 100 บริษัทชั้นนำ (ยกเว้น ภาคการเงิน) ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ เช่น Texas Instruments, Intel, Ebay, Pepsico เป็นต้น
- Nikkei 225 คือ ดัชนีหุ้นที่สะท้อนผลการดำเนินงานของ 225 บริษัทที่จดทะเบียนบน Prime Market ของตลาดหุ้นโตเกียว เช่น Hitachi, Fujitsu, Kyocera, Toyota เป็นต้น
- CAC 40 คือ ดัชนีราคาหุ้นที่สะท้อนผลการดำเนินงานของ 40 บริษัทยักษ์ใหญ่และมีการซื้อขายบ่อยที่สุดอันจดทะเบียนในตลาดหุ้นฝรั่งเศส เช่น Airbus, LVMH, L’ Oreal เป็นต้น
- DAX 40 คือ ดัชนีหุ้นที่สะท้อนผลการดำเนินงานของ 40 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ต เช่น Adidas, Bayer, BMW, Deutsch Bank เป็นต้น
- FTSE 100 คือ ดัชนีหุ้นที่สะท้อนผลการดำเนินงานของ 100 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอน เช่น Barclays, Unilever, Tesco, Prudential เป็นต้น
- HSI คือ ดัชนีหุ้นที่สะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนในกระดานหลักของตลาดหุ้นฮ่องกง เช่น Bank of China, Tencent, AIA, China Life เป็นต้น
- CSI 300 คือ ดัชนีหุ้นที่สะท้อนผลการดำเนินงานของ 300 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และตลาดหุ้นเสิ่นเจิ้น เช่น Kweichow Moutai, Midea Group, Wuliangye Yibin เป็นต้น
- BSE Sensex คือ ดัชนีราคาหุ้นที่คำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าตลาดปรับด้วยสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย ซึ่งประกอบด้วย 30 บริษัทชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นบอมเบย์ เช่น Axis Bank, State Bank of India, Nestle India เป็นต้น
ช่องทางการลงทุนดัชนีหุ้น
คุณสามารถลงทุนดัชนีหุ้นผ่าน
กองทุนดัชนี
กองทุนดัชนี (Index Fund) คือกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ทุกตัวที่อยู่ในภายดัชนี และพยายามสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นอ้างอิงมากที่สุด คุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่
หากคุณไม่มีประสบการณ์ลงทุน ไม่มีเวลาติดตามการลงทุนและมีเงินลงทุนจำกัด การลงทุนผ่านกองทุนดัชนีดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคุณ
แต่หากคุณมีเวลาลงทุน ไม่กลัวขาดทุนและยอมรับความเสี่ยงได้สูง คุณสามารถลงทุนผ่าน…
CFD
CFD หรือสัญญาซื้อขายส่วนต่างคือ สัญญาระหว่างนักลงทุนกับโบรกเกอร์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องจ่ายส่วนต่างของราคาสินทรัพย์ที่นักลงทุนและโบรกเกอร์ตกลงใช้ในการอ้างอิงราคา (สินทรัพย์อ้างอิง) เช่น หุ้น ดัชนี ทองคำ คู่เงิน ฯลฯ นับตั้งแต่เริ่มต้นเปิดสัญญาจนถึงปิดสัญญา
พูดง่าย ๆ คือ คุณพนันกับโบรกเกอร์ CFD ว่าดัชนีราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นหรือดิ่งลงมากน้อยแค่ไหน หากคุณคาดการณ์ถูกต้อง คุณจะได้รับกำไร แต่หากคุณคาดการณ์ไม่ถูกต้อง คุณจะขาดทุนแทน
หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CFD คุณสามารถคลิกอ่านที่นี่
ดัชนีราคาหุ้น: https://member.set.or.th/education/th/begin/stock_content07.pdf เข้าถึง 16 เมษายน 2566
What is a Stock Market Index?: https://www.fool.com/investing/stock-market/indexes/ เข้าถึง 16 เมษายน 2566
Stock Market Index: https://corporatefinanceinstitute.com/resources/capital-markets/stock-market-index/ เข้าถึง 16 เมษายน 2566
Intro To Stock Index Weighting Method: https://novelinvestor.com/stock-index-weighting-methods/ เข้าถึง 16 เมษายน 2566
Fundamentally Weighted Index: Fundamentally Weighted Index Definition (investopedia.com) เข้าถึง 16 เมษายน 2566
Price-Weighted Index: https://corporatefinanceinstitute.com/resources/capital-markets/price-weighted-index/ เข้าถึง 16 เมษายน 2566
S&P 500: https://www.spglobal.com/spdji/en/indices/equity/sp-500/#data เข้าถึง 16 เมษายน 2566
DJIA: https://www.spglobal.com/spdji/en/indices/equity/dow-jones-industrial-average/#data เข้าถึง 16 เมษายน 2566
NASDAQ-100: https://www.nasdaq.com/solutions/nasdaq-100 เข้าถึง 16 เมษายน 2566
Nikkei 225: https://indexes.nikkei.co.jp/en/nkave/index/profile?idx=nk225 เข้าถึง 16 เมษายน 2566
CAC40: https://live.euronext.com/en/product/indices/FR0003500008-XPAR/market-information เข้าถึง 16 เมษายน 2566
DAX40: https://qontigo.com/index/dax/ เข้าถึง 16 เมษายน 2566
FTSE 100: https://www.ftserussell.com/products/indices/ukx เข้าถึง 16 เมษายน 2566
HSI: https://www.hsi.com.hk/eng/indexes/all-indexes/hsi เข้าถึง 16 เมษายน 2566
CSI 300: https://www.csindex.com.cn/en#/indices/family/detail?indexCode=000300 เข้าถึง 16 เมษายน 2566
BSE SENSEX: https://www.bseindia.com/sensex/code/16/ เข้าถึง 16 เมษายน 2566