คุณอาจรู้สึกดีที่สามารถซื้อของที่ต้องการในราคาถูกลง แต่หากราคาสินค้าและบริการต่างปรับตัวลดลง นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะเงินฝืดที่ส่งผลกระทบกับตัวคุณและเศรษฐกิจ
เงินฝืดคืออะไร
ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ คือคุณสามารถซื้อของมากขึ้นด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม
แล้วไม่ดีตรงไหนล่ะ
หากราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อย ๆ ผู้คนจะชะลอการใช้จ่าย (ไม่มีใครอยากจ่ายแพง) อันส่งผลต่อรายได้ของผู้ผลิต ซึ่งอาจนำไปสู่การปลดพนักงานเพื่อลดต้นทุน ทำให้ผู้คนชะลอการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้นและราคาสินค้าและบริการอาจจำเป็นต้องลดลงกว่าเดิม
เงินฝืดวัดจากอะไร
ดัชนีราคาผู้บริโภค
ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index – CPI) วัดความเปลี่ยนแปลงของราคากลุ่มสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อเป็นประจำในปัจจุบันเปรียบเทียบกับปีฐาน (100) ที่จัดทำโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้าเป็นรายเดือน
หากราคากลุ่มสินค้าและบริการของ CPI ในช่วงเวลาหนึ่งต่ำกว่าราคากลุ่มสินค้าและบริการในช่วงเวลาก่อนหน้า นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจเริ่มสัมผัสกับเงินฝืด
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยจะถือว่าเราเข้าสู่ภาวะเงินฝืดก็ต่อเมื่อ
- ราคาสินค้าและบริการโดยรวมหดตัวอย่างต่อเนื่อง
- ราคาสินค้าในตระกร้าเงินเฟ้อหดตัวเป็นวงกว้าง
- ธนาคารกลางไม่สามารถยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ
- อุปสงค์และการจ้างงานชะลอลงต่อเนื่องและยาวนาน
เงินฝืดเกิดจากอะไร
อุปสงค์ (ความต้องการซื้อของผู้บริโภค) ลดลงหรืออุปทาน (ความต้องการขายของผู้ผลิต) เพิ่มขึ้น
อุปสงค์ที่ลดลงมาจาก
- ปริมาณเงินในระบบลดลง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ผู้คนชะลอการใช้จ่ายและเก็บเงินมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและลงทุน
- ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ยามที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผู้คนจะชะลอการใช้จ่ายและเก็บเงินมากขึ้นเพื่อเตรียมตัวสำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอน
อุปทานที่เพิ่มขึ้นมาจาก
- ต้นทุนการผลิตลดลง เมื่อราคาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการผลิต (เช่น น้ำมัน เหล็ก ถ่านหิน เป็นต้น) ลดลง ต้นทุนการผลิตจะถูกลง ทำให้ผู้ผลิตสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตจนอาจทำให้อุปทานมากกว่าอุปสงค์
- ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือลดต้นทุนการผลิตลง ทำให้ผู้ผลิตสามารถขายสินค้าในราคาที่ถูกลง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคุณ
- การจ้างงาน เมื่อกำไรลดลง บางบริษัทอาจเลือกปลดพนักงานออกเพื่อลดต้นทุน ซึ่งคุณอาจเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่จะได้รับเงินประกันสังคมกรณีว่างงาน
- หนี้ ดอกเบี้ยมักปรับตัวสูงขึ้นในภาวะเงินฝืด ทำให้คุณชะลอการใช้จ่ายและลดการลงทุนลง
- ภาวะเงินฝืดรุนแรง ทำให้สภาพเศรษฐกิจเลวร้ายมากยิ่งขึ้นและใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานมากขึ้น
คุณจะรับมืออย่างไร
ลดหนี้ ในยามที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลง คุณมีโอกาสถูกตัดเงินเดือนลดหรือปลดออกจากงาน ทำให้คุณอาจไม่สามารถจ่ายหนี้กยศ. บัตรเครดิต บ้าน ฯลฯ ตรงเวลา
ซื้อพันธบัตร/หุ้นกู้กลุ่มระดับการลงทุน หนึ่งในการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุดในช่วงเงินฝืด
ลงทุนหุ้นเชิงรับ ไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไร คุณก็ยังคงต้องซื้อสบู่ แปรงสีฟัน กระดาษชำระ ยารักษาโรคประจำตัว เป็นต้น ทำให้การลงทุนหุ้นที่จำหน่ายสินค้าดังกล่าวเป็นตัวเลือกที่ดี
ไม่ต้องกังวลเกินเหตุ ถึงแม้เงินฝืดจะน่ากลัวสำหรับคุณและเศรษฐกิจ แต่โอกาสที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อย ๆ นั้นมีน้อยกว่าภาวะเงินเฟ้อมาก
วิธีควบคุมเงินฝืด
รัฐบาลสามารถควบคุมเงินฝืดผ่านนโยบายการเงินและการคลัง
นโยบายการเงิน
- ลดเงินสดสำรองตามกฎหมาย เพราะธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น ซึ่งช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน
- การซื้อคืนพันธบัตร ทำให้ปริมาณเงินในระบบมากขึ้นและค่าของเงินลดลง ซึ่งกระตุ้นให้ผู้คนใช้จ่ายมากขึ้นและทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
- ลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมถูกลง ส่งผลให้เกิดการกู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภคและลงทุนมากยิ่งขึ้น
- มาตรการ QE คือการอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดผ่านการกว้านซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรหรือหุ้นเพื่อตรึงราคาสินทรัพย์ไม่ให้ตกลงมากกว่าเดิม
- อัตราดอกเบี้ยติดลบ การจ่ายเงินให้กับธนาคารแทนที่จะได้รับดอกเบี้ย (ที่น้อยนิด) จากการฝากเงินช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนแทนที่จะปล่อยให้เงินนอนไม่ไหวติงอยู่ในบัญชีเงินฝาก
นโยบายการคลัง
- เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ เมื่อภาคเอกชนชะลอการใช้จ่าย ภาครัฐก็จำเป็นต้องใช้จ่ายมือเติบเพื่อประคองเศรษฐกิจ
- ลดภาษี ทำให้ภาคเอกชนมีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและลงทุนมากขึ้น แต่ก็แลกมากับรายได้การจัดเก็บภาษีที่ลดลง
สรุป
เงินฝืดภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อย ๆ ซึ่งเกิดจากอุปสงค์ที่ลดลงหรืออุปทานที่มากขึ้นนั้นเป็นข่าวร้ายสำหรับคุณและเศรษฐกิจ
แต่ไม่ต้องกังวลไป โอกาสที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อย ๆ มีน้อยกว่าเงินเฟ้อมาก และภาครัฐสามารถควบคุมผลกระทบจากภาวะเงินฝืดผ่านมาตรการทางการเงินและการคลัง
การประเมินโอกาสการเกิดภาวะเงินฝืดในไทย: https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/MPR/BOX_MPR/BOXMPR_Q2_1.pdf เข้าถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564
วารสาร สนค. ของกระทรวงพาณิชย์: http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/tpso_journal_may_63_issue_106.pdf เข้าถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564
What is Deflation? : https://www.forbes.com/advisor/investing/what-is-deflation/ เข้าถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564
What is Deflation? : https://corporatefinanceinstitute.com/resources/knowledge/economics/deflation/ เข้าถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564
7 Ways Governments Fight Deflation: https://www.investopedia.com/articles/investing/030915/top-6-ways-governments-fight-deflation.asp เข้าถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564